เพื่อเป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้และประยุกต์เทคนิควิทยาการข้อมูลให้เหมาะสมในภาคธุรกิจ หลักสูตร MS Stat & Data Sci จึงนำนิสิตเดินทางมาศึกษาดูงาน ณ ประเทศไต้หวัน ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2567
ในวันเเรกของการศึกษาดูงาน นิสิตได้เข้าฟังการบรรยายในหัวข้อ Business Data Analytics and Marketing strategy โดย Asst. Prof. Pei Yu Chien จาก National Tsing Hua University (NTHU) นิสิตได้เรียนรู้ถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจลูกค้าและพัฒนากลยุทธ์การตลาด โดยมีเป้าหมายคือการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าทั้งใหม่และเก่า ซึ่งในการวางกลยุทธ์การตลาด การแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากลูกค้ามีความต้องการและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ตัวแปรที่นำมาใช้ในการแบ่งกลุ่มมีได้หลากหลาย เช่น ตัวแปรทางด้านประชากรศาสตร์ ด้านจิตวิทยา ด้านภูมิศาสตร์ และพฤติกรรมผู้บริโภค
นอกจากนี้ นิสิตยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Industry 3.5 x Blue Lakes Strategy to Empower SMEs and case studies in Taiwan จาก Prof. Chen-Fu Chien, Tsinghua Chair Professor& Executive Vice President โดย Industry 3.5 ของประเทศไต้หวัน เป็นกลยุทธ์แบบผสมผสานระหว่าง Industry 3.0 และ Industry 4.0 ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI, การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่, คอมพิวเตอร์ และการตัดสินใจดิจิทัล เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดด โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงบ่าย นิสิตได้เรียนรู้ในเรื่อง Energy market and sustainability transition โดย Asst. Prof. Ker-hsuan Chien ซึ่งได้อธิบายถึงธุรกิจทั่วโลกที่เริ่มหันมาสนใจพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองต่อข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเน้นให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดการซัพพลายเชนและการรายงานที่โปร่งใส การเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเป็นเจ้าของโดยตรง การลงทุนในหุ้น หรือการจัดหาใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีความท้าทายเฉพาะในแต่ละตลาด สำหรับประเทศในเอเชีย การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนไม่เพียงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังช่วยลดการพึ่งพาพลังงานที่ไม่หมุนเวียนและส่งเสริมความยั่งยืน เช่นเดียวกับที่ไต้หวันได้เปิดเสรีตลาดพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2017 โดยสนับสนุนพลังงานลมและแสงอาทิตย์ผ่านนโยบายต่าง ๆ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในระบบพลังงานและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศ
นอกจากนี้นิสิตยังได้มีโอกาสอภิปรายในประเด็นทางด้าน marketing analytics และ energy market ในประเทศไต้หวันกับคณาจารย์จาก NTHU โดย Prof. Yuan-Chieh Chang, Co-Director ของโปรแกรม MBA เป็นผู้นำการสนทนา สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและเข้าใจในมุมมองธุรกิจพลังงาน
วันที่สองของการดูงาน เราไปเยี่ยมชม Museum of Innovation ของบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในตัวย่อว่า TSMC ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตชิประดับโลกที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม IT ในปัจจุบัน แต่นอกจากความล้ำหน้าทางด้านเทคโนโลยีแล้ว สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่ทราบมาก่อนก็คือ ความสำเร็จของ TSMC นั้นมาจากวิสัยทัศน์ทางธุรกิจที่แตกต่างออกไปจากบริษัทอื่น ๆ ในยุคเดียวกันด้วย
ในปี ค.ศ. 1985 ดร. Morris Chang นำเสนอต่อรัฐบาลไต้หวันเพื่อตั้ง TSMC โดยเปลี่ยนรูปแบบการผลิตชิปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขยายธุรกิจแนวตั้ง (vertical) แต่ละบริษัทก็ผลิตชิปแยกกัน มาเป็นการให้บริการผลิตหรือเป็น foundry โดยเฉพาะ ส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วโลกที่ไม่สามารถลงทุนผลิตชิปได้เอง สามารถออกแบบชิปเพียงอย่างเดียวและนำไอเดียไปสู่การผลิตได้จริง
ในขณะเดียวกันธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผลิตชิปของตนเองก็ไม่สามารถผลิตชิปแข่งขันกับ TSMC ได้ เพราะการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ทำให้หลายบริษัทกำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นแนวราบ (horizontal) มากขึ้น รวมทั้งมาเป็นพันธมิตรกับ TSMC ซึ่งให้คำมั่นว่าจะไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นแนวตั้งและทำสินค้าแข่งกับคู่ค้าโดยเด็ดขาด
ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ นิสิตได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของรูปแบบธุรกิจต่อการสร้างความเชื่อมั่นในฐานะพันธมิตรการผลิตกับบริษัทระดับโลก TSMC เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงการเติบโตของธุรกิจที่มีจุดยืนเฉพาะตัวในการให้บริการเทคโนโลยีแก่ลูกค้าจากหลายอุตสาหกรรม จนเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนโลกธุรกิจยุคใหม่
ในช่วงบ่ายของวันที่สองของการดูงาน เราได้เยี่ยมชม Industrial Technology Research Institute หรือ ITRI ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมให้แก่ธุรกิจของไต้หวัน TSMC ที่กล่าวถึงในโพสต์ที่แล้วก็เริ่มต้นมาจาก ITRI นี่เอง ITRI มีความพิเศษที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพียง 50% ส่วนที่เหลือมาจากรายได้จากงานวิจัยและการให้บริการด้านนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนโดยตรง ทำให้ทีมงานที่นี่สามารถอธิบายให้เห็นถึงคุณค่าเชิงพาณิชย์ของงานวิจัยได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะเป็นงานวิจัยหลากหลายด้าน ตั้งแต่การแพทย์ไปจนถึงการแปรใช้ใหม่ (recycling) นอกจากนั้นงานเกือบทุกชิ้นที่นำเสนอ แม้จะตีพิมพ์ไปไม่นาน ก็มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้แล้ว ทีมงาน ITRI ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ITRI มักติดต่อไปยังธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อหารายได้จากงานวิจัย แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจขนาดรองลงมามักติดต่อ ITRI เข้ามาเองเพื่อค้นหางานวิจัยใหม่ และสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจจากนวัตกรรม แม้ว่าจะไม่สามารถตั้งหน่วยวิจัยของตนเองได้
ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ นิสิตได้รับบทเรียนที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสำคัญของการสื่อสารระหว่างภาควิจัยและภาคธุรกิจ ในขณะที่ประเทศไทยยังมีความท้าทายเรื่องการเชื่อมโยงผลงานวิจัยสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ ไต้หวันกลับแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างสถาบันวิจัยและภาคเอกชน ซึ่งต่างฝ่ายต่างทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง